วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

วิเคราะห์ วรรณกรรม : มหาเวสสันดร กัณฑ์ทานกัณฑ์

บทที่ 1
ปฐมเหตุเวสสันดร

พระพุทธองค์ สมัยเมื่อเสด็จละจากมหาวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์อันเป็นราชธานีแห่งมคธ สู่นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบทเพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติ มีพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเป็นประธาน อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสาร และนำเสด็จไปประทับยังนิโครธารามไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่ภิกษุบริวารเป็นอันมาก (1 แสน)ยังความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ ในกาลครั้งนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ทรงประกาศเรื่องเวสสันดรชาดก โดยปกติพระตถาคตเจ้า เสด็จสู่ ณ ที่ใดย่อมบังเกิดความสุขสวัสดี ณ ที่นั้น เพราะอานุภาพแห่งคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา อุปมาเสมือนมหาเมฆหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก ยังความอ้าวระอุของไอแดดไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉาให้ฟื้นสู่ความชื่นบานตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิดและเจริญวัยมา มวลพระญาติและราษฏร์ประชา หาได้ยินดีต่อพุทธวิสัย
ธรรมานุภาพไม่ พระองค์ทรงอุบัติมาเป็นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหายใคร่จะชมพระบารมีจักรพรรดิราช แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝัน ทรงอยู่ในพระเยาวกาลเกศายังดำสนิท ไม่ปรากฏร่องรอยความร่วงโรยแห่งสังขารแม้สักน้อย ทั้งสมบูรณ์พูนพร้อมทุกอย่าง เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมี พระชายาทรงสิริโฉมเป็นเลิศ ซ้ำเป็นโชคอันประเสริฐให้กำเนินโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า พระองค์ยังตัดเยื่อใยแห่งโลกีย์ เสด็จแหวกวงล้อมเหล่านี้ออกสู่ไพรพฤกษ์ ประพฤติองค์ปรานประหนึ่งพเนจรอนาถา สร้างความผิดหวังและวิปโยคแก่คนทั้งแคว้นเป็นเวลานานปี 6 ปี ทรงกระทำงานชีวิตและสำเร็จกิจโดยได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจากนั้นก็ทรงใช้ไปเพื่องานสงเคราะห์สัตว์โลก เสด็จเที่ยวแจกจ่ายอุบายพ้นทุกข์ ด้วยเทศนาสั่งสอนจนชาวโลกยอมรับและเทิดทูนไว้ในฐานะองค์ศาสดาเอก บัดนี้ พระพุทธองค์เสด็จคืนกลับกบิลพัสดุ์แล้ว แต่ชาวกบิลพัสดุ์มิได้ต้อนรับในฐานะศาสดาเอก บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จคืนกลับกบิลพัสดุ์แล้ว แต่ชาวกบิลพัสดุ์มิได้ต้อนรับในฐานะศาสดา เขาพากันปิติต่อพระองค์ในฐานะที่เคยเป็นขวัญจิตขวัญใจของเขาต่างหาก (จากหนังสือเรื่องเพลงศาสนา ของหลวงตาแพร เยื่อไม้)
วันแรกที่เสด็จถึงดินแดนแห่งมารดร ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่โอกาสที่จะประทานธรรมเทศนาแก่หมู่พระญาติ เพราะวันนี้เป็นวันที่วิถีประสาทและจิตใจตลอดทั้งร่างกายของเหล่าศากยะ เต็มได้ด้วยอาการปิติตื่นเต้น และอิดโรยด้วยความยินดี และภารกิจไม่อยู่ในสภาพที่ควรแก่การรองรับกระแสธรรม ทรงรอวันรุ่ง แต่แล้วในตอนบ่ายของวันต่อมา เมื่อบรรดาศากยราชญาติประยูรพากันเสด็จไปเฝ้าที่นิโครธาราม ก็ทรงประจักษ์ว่า พระทัยของประยูรญาติบางส่วน ยังไม่อยู่ในฐานะควรแก่การรับคำสั่งสอน เพราะมีพระญาติวงศ์รุ่นสูงชันษาบางพระองค์แสดงอาการทระนงเป็นเชิงว่า “ข้าเกิดก่อน” เจ้าชายสิทธัตถะจะแสดงความคารวะนบไหว้ หรือสนพระทัยต่อพระพุทโธวาทก็เกรงจะเสียเชิงของผู้เห็นโลกมาก่อน จึงพากันประทับอยู่ห่าง ๆ ด้วยพระอาการเคอะเขิน หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ตามซุ้มไม้และฉากกั้น ปล่อยแต่บรรดากุมาร กุมารี รุ่นเยาว์ชันษาให้ได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด พระอาการอันกระด้างเคอะเขินของพระญาติรุ่นสูงอายุนั้น พระพุทธองค์ทรงสังเกตว่าเกิดจากมูลเหตุอันจะเป็นอุปสรรคสกัดกั้นผลดีที่จะพึงเกิดมีแก่เขาเสีย มูลเหตุอันจะปิดกั้นความงอกงามจำเริญแก่ดวงจิตนั้นก็คือ ทิฐิมานะ ความเห็นอันเป็นให้ถือตน ถ้าลงจับจิตสิงใจผู้ใดเข้าแล้ว ก็รังแต่จะทำให้สภาพจิตวิปริตไป เสมือนรากต้นไม้ที่เป็นโรค แม้ฝนจะฉ่ำน้ำจะโชก แผ่นดินจะฟูอยู่ด้วยรสปุ๋ยรากที่ปิดตัดเสียแล้วด้วยอำนาจเชื้อโรค ก็ไม่ย่อมดูดซับเอาโอชะเข้าบำรุงลำต้น เกรียนโกร๋นยืนตายไปในที่สุดฉันใด อนาคตของคนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น ทรงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือ ทำลายความกระด้าง ล้างความถือดี เสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำหนดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้นลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศเสด็จลีลาศจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์ เพียงเท่านี้เอง ความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลังก็เสื่อมสูญอันตรธาน พากันก้มเศียรคารวะแสดงถึงการยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงประทับ ณ พุทธอาสน์ เบื้องนั้น ฝนอันอัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลงความมหัศจรรย์มีลักษณะดังนี้
· สีเม็ดน้ำฝนแดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม
· ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนา เม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย
· ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด
· ตกลงเฉพาะในสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วยคติในความมหัศจรรย์โดยอุปมา มีดังนี้
ข้อที่ 1 สีของน้ำฝน ได้แก่ สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็
สมหวังแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จคืนกลับมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉม จึงพากัน
ชื่นบานผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือดอย่างที่เรียกราศีของคนมีบุญว่า ผิวพรรณอมเลือดฝาด
ข้อที่ 2 ความชุ่มชื้นของสายฝน ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศออกไป มี
เหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพธรรมก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก
และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะ
เยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝน แต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟัง ธรรมะนั้นก็จะไม่
กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา อุปมาด้วยฝนไม่เปียก
ข้อที่ 3 ปกติธรรมะเป็นของสะอาด ไม่ก่อทุกข์โทษอันพึงรังเกียจแก่ใคร ๆ ไม่ว่ากาลไหน ๆ
ข้อที่ 4 พระพุทธจริยาครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะหมู่พระญาติศากยะล้วน ๆ
เมื่อศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน เย็นใจด้วยกระแสธรรม และกราบบังคมลาพากันคืนสู่พระราชนิเวศแล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เขตสนธยากาล แสงแดดอ่อนสาดฝ่าละอองฝนที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนหลงเผลอ แม้นกก็บินกลับรวงรังอย่างลังเล ภิกษุทั้งหลายกำลังชุมนุมสนทนากันถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันเฉิดฉาย ลงท้ายก็พากันเทิดทูนพุทธบารมีที่บันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแล้วอย่างพิศวงยิ่ง พระพุทธองค์เสด็จสู่วงสนทนา ของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทสแห่งการสนทนานั้น ก็ตรัสแย้มว่าฝนนี้เรียกว่า ฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ นามว่าเวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมจนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมานั่นสิ อัศจรรย์กว่า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสิบสามกัณฑ์พันพระคาถา (เทศน์มหาชาติ-เทศน์มหาชนก-ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา,หน้า42-45.)

เทศน์มหาชาติ

การเทศน์มหาชาติเป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังหลักฐานปรากฏตามความในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ 3 หรือ “จารึกนครชุม” ซึ่งจารึกไว้ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) เมื่อ พ.ศ.1900 ว่า “ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย” งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว โดยทั่วไปนิยมจัดงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง ระยะเวลาจัดงานอาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษ จะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 ส่วนทางดินแดนล้านนาทางภาคเหนือจะเรียกการเทศน์มหาชาติว่า “การตั้งธรรมหลวง” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือ วันเพ็ญเดือน 12 เรื่องที่นำมาใช้ในการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนการที่เรียก มหาเวสสันดรชาดก ว่า “มหาชาติ” นั้น เนื่องด้วยเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่และยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดก คือ รวมเรื่องใหญ่ 10 เรื่อง เรียกว่า ทศชาติ แต่เหตุที่อีก 9 เรื่องไม่เรียกว่ามหาชาติเช่นเดียวกับเวสสันดรชาดกนั้น ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 อย่าง คือ
1. ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
2. ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
3. เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
4. ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
5. วิริยบารมี ทรงปฏิบัติธรรมมิได้ย่อหย่อน
6. สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกสองพระกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนี ก็ทรงติดตามมาให้
7. ขันติบารมี ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
8. เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฏร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์เพราะเมือง กลิงคราษฏร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองพระกุมารโดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
9. อุเบกขาบารมี เมื่อทรงเห็นสองพระกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
10. อธิษฐานบารมี คือ ทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์ ดังนั้น จึงเรียกพระชาติสำคัญนี้ว่า “มหาชาติ” ส่วนพันเอกสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี) กล่าวไว้ว่า พระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดร ได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึงขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการ อันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทางจริยธรรมและความรู้ เหมาะแก่การข้ามพันโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดา เพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นามว่า “มหาชาติ” คือเป็นพระชาติที่บำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุดนั่นเอง เวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะปรารภฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสเวสสันดรชาดกในที่นี้ มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ประกอบด้วย ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์
มหาชาติในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. มหาชาติประยุกต์ ท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล (หลวงตาแพร เยื่อไม้) วัดประยูรวงศาวาสเป็นผู้คิดและให้คำ ๆ นี้ เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว จุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือ ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ และได้สาระ ไม่ง่วงน่าเบื่อหน่าย อีกทั้งประหยัดเวลาในการแสดง
2. มหาชาติทรงเครื่อง มี 3 ลักษณะ คือ
- มีการปุจฉา – วิสัชนา ถาม – ตอบ ในเรื่องเทศน์
- มีการสมมติหน้าที่ เช่น องค์โน้นเป็นพระเวสสันดร องค์นี้เป็นพระนางมัทรี
- ในเทศน์มีแหล่ ทั้งแหล่นอก แหล่ใน มิใช่ว่าแต่ทำนองประจำกัณฑ์เท่านั้น (แหล่นอก หมายถึง แหล่นอกบทนอกเนื้อความจากหนังสือ เป็นการเพิ่มเติมเข้ามา แหล่ใน หมายถึง แหล่ในเรื่อง เนื้อความตามหนังสือที่ยอมรับกัน เช่น ฉบับวชิรญาณ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ)
3. มหาชาติหางเครื่อง มีการแสดงประกอบที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน มีเฉพาะฆราวาสล้วน ๆ เช่น เอาชูชกมาออกฉาก แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมหาลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ
ความเชื่อ
เชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ฟังมหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียว หรือบูชาธูปเทียนดอกไม้จำนวน 1,000 เท่ากับจำนวนพระคาถา จะได้พบกับศาสนาพระศรีอาริย์ (มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้า ฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปภัมถ์. เทศน์มหาชาติ มหากุศล เฉลิมพระเกียรติ
ถวายพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมชนมพรรษา 80
พรรษา 5 ธันวาคม, หน้า24-28)


บทที่ 2
มหาเวสสันดร กลอนอีสาน
กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์


เมื่อนั้นขอให้สองกษัตริย์ไท้คุณคามครองราชย์ อย่าได้มีพยาธิ์ฮ้อนยืนหมื่นหมื่นปีแด่ท่อน ลูกนี้คนขวางฮ้ายวายเมืองมัวมอด ฝูงหมู่พวกไพร่น้อยกระหายฮ้อนทั่วแดนแท่แหล่ว ประชาชนแท้หลอนเลิงเลี้ยงยาก ลูกนี้อยู่บ่ได้ เมืองบ้านซิล่มหลวง เมื่อนั้นพระแม่เจ้ากิ้งเกือบตายสลบ ทนทรวงขนังปวงไปเป็นบ้า แล้วจึงฮอมขัน 5 ตาตนตั้งเที่ยง สวมกอดอุ่มหลานแก้วผ่างเพลา แล้วตอบต้านวอนแอ่วองค์กษัตริย์ราชาพระบ่ยอมยังเลี้ยง เมื่อนั้นสญไชยเจ้าพระยาหลวงตนปู่ ต้านต่อลูกสะไภ้กอยกั้นเล่าโลม ให้ลูกอยู่สืบสร้างเสวยราชในปรางค์พ่อท่อน อย่าได้ไปตามผัวป่าไพรพงช้าง อันแต่ในดงกว้างไพรสนแสนยาก มีทั้งผีปาเป้าโพงฮ้ายสม่อยดงพ่อแหล่ว มีทั้งเสือสางฮ้ายทอระพีควายเถื่อน ฝูงหมู่งูงอดเงี่ยวเขียวฮ้ายเห่าจอง มีทั้งทำทานพร้อมจงอางสางฮ้าเต็มป่าไม้ เหวห้วยฮ่อมผาลูกเอย คันหากเห็นคนแล้วทะยานโยงเต้นตอด พิษพุ่งฮ้ายกลัวย่านอย่าไปพ่อท่อน มีทั้งเหลือมเหลาแหล่สีแดงเดียระดาษ ฝูงหมู่เสือโคร่งเขียวโฮมฮ้ายหมู่หมี มีทั้งสิงโตเต้นในดอยดงด่าน ไผบ่นับอ่านถ่วนคณาเนื้อมั่งเมย มหิงสาฮ้ายดังดีดมกลิ่นเต้นไต้ต้องตันไว้ว่างดอย สังหาญฆ่าคนจรพรานป่า ลูกอย่างต้านคำเว้าว่าซิไปพ่อท่อน ลูกจงเนาในห้องปรางค์ทองผาสารท เลี้ยงลูกน้อยแทนเชื้อสืบพระวงศ์ เมื่อนั้นศรีเสลียวแก้วนางมะทีทูลปู่ ขอให้พระหย่ำเกล้าบุญกว้างฮำเพิงแด่ท่อน ชาติที่นารีเชื้อแนวหญิงยศต่ำ สุขอยู่ด้วยบุญสร้างพรำผัวพระเอย แม่นว่าเงินคำล้นเต็มสางแสนโกฏิก็ดีแหล่ว ผัวบ่มีอยู่ซ้อนขวัญซิไข้ป่วยใจ แม่นว่าสุขยิ่งล้ำล้นโลกอะจินไตรก็ดี ดูดั่งคนจัณฑาลหมู่แถลงตื้น คันว่ามีผัวซ้อนเทียมเพลานอนแนบ แม่นซิทุกข์ท่อฟ้าสีหน้าก็ฮุ่งเฮืองพระเอย อันว่าสามีโกแก้วองค์เดียวเดินป่า หาเพื่อนพร้อมเทียมช้างก็บ่มี ลูกบ่ละแจ่มเจ้าเจียระจากองค์เดียว ลูกขอไปตามผัวแอ่วนำแนมเจ้า แสนทุกข์ฮ้อนนอนดินดอมปลวกก็ตามถ่อน แม่นซิทุกข์ท่อฟ้าพระองค์ข้าซิคอยเพียรพระเอย แนมท่อได้พางพื้นท่าวเทศองค์ศีล เป็นตายสังก็ส่างกรรมเมื่อหน้า เมื่อนั้นองค์กษัตริย์ไท้สญไชยตนปู่ ต้านต่อลูกสะไภ้ขืนห้ามซิบ่ฟังแลหนอ อนิจจังด้วยดอมหลานสองอ่อนกูเด อายุยังหนุ่มน้อยนอนผ้าอู่เปล คิดถึงเวลาไข้เดินไพรเขียวแดด ตากน้ำค้างกลางด้าวด่านดง อันตรายล้นไพรสนหิมะเวส ปู่พากย์ข้อขอไว้อย่าซิไปพ่อท่อน ขอให้สองหลานแก้วเนาว์ในนครราช ปู่มอบให้กรุงกว้างแก่หลาน อันแต่กงทะลังพื้นประเซไชยนัคคะเรศ อาณาเขตกว้างซิงางให้แก่หลานแท่แหล่วเมื่อนั้นนางตอบต้านทูลราชเทโว อันว่าสองกุมารอ่อนนมยังน้อย คันหากไกลอกอุ้มฮามเพลาหายฮูบ ชีวิตซ่อนขวัญเมี้ยนมอดจมพระเอย เทื่อนี้ปู่เบิกบ้านขับจากพารา ลูกจักพากันไปพรากวังวันนี้ กับทั้งชาลีเจ้ากัณหาสองอ่อน จักได้ลาบาทเจ้าบุญกว้างปู่ไปก่อนแหล่ว ค่อมว่านางกล่าวแล้วองค์เอกโพธิสัตย์ยอเทียนทูลแทบตีนจอมเจ้า เทื่อนี้เป็นปางฮ้อนโฮมขันธ์ ขวางโลกลูกขอลาพ่อเจ้าฮามห้อมพรากวังก่อนแหล่ว ขอให้สองกษัตริย์เจ้าคุณคามครองราชย์ ตุ้มไพร่น้อยเมืองบ้านอยู่เกษม สัพพะโรคาไข้เวรกรรมการโศรก เคราะห์อย่างข่องเข็นฮ้ายอย่าพานบ้างแม่ คอมว่าพระกล่าวแล้วลงราชปรางค์ทองแยงมณเฑียรราชวังหอแก้ว แลเห็นพ้องวิชัยยนต์เฮืองฮุ่ง ยอดพุ่งพ้นหลายชั้นซ่อปรางค์มณีโชแก้ว 7 ประการแกมเมฆ ประดับดาดฟ้าหลายล้านลูกดาว มีทั้งเหลืองขาวแก้วดำแดงดูสะอาด ประดับลาดพื้นนิลแก้วแบ่งสีอันว่ามณเฑียรท้าวเทียมทันเทวโลกจริงแหล่ว เมื่อนั้นภูวนารถเจ้าทั้งไท้แม่มะทีแลดูห้องปรางค์ทองผาสารท พระบาทเจ้าทั้งน้องฮ่ำไฮอันว่ากรรมใดแท้มาประจนจำจาก จึงได้พลัดพรากห้องหอแก้วราชวังพี่เด่ ค่อยอยู่ดีเยอยอดช่อฟ้าปราสาทมุงมณี ทั้งเม็งชรบ่อนเตียงพรมผ้า เทื่อนี้เฮาจักลาไลไว้ฮามนอนกั้วกลิ่นกันแหล่วนับมื้อไกลออกหน้าความซิใกล้บ่มีแลนอ ค่อยอยู่ดีเยอมณเฑียรกว้างวิชัยยนต์ผาสาทกูเอยทั้งบ่วงคุ้มสนามเล่นเรื่องขนเทื่อนี้เฮาจักไลฮามไว้สนามไชยค่อยอยู่ดีท่อนฝูงหมู่นาคราชเจ้าในน้ำโบกบึงเจ้าเอย
(“มหาเวสสันดร.” กลอนอีสาน ชาดกเดิม กัณฑ์ที่ 3 ทานกันฑ์, ผูกที่ 2.)

เนื้อเรื่องแปล

นางผุสดีทรงทราบว่าพระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากพระนครก็ตกพระทัยรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสญชัยเพื่อทูลขอพระราชทานอภัยโทษแต่ไม่สำเร็จ จำต้องเนรเทศพระราชโอรสด้วยเสียพระทัยนัก แต่พระเจ้ากรุงสญชัยได้ทัดทานมิให้พระนางมัทรีและพระนัดดาทั้งสองตามเสด็จไปด้วย แต่พระนางมัทรีมิทรงยินยอม ก็ทรงขอพระนัดดาไว้ พระนางมัทรีก็มิทรงยินยอมอีก ด้วยทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะขอตามเสด็จพระสวามีไปพร้อมพระโอรสและพระธิดา และทรงกราบทูลว่า เมื่อเป็นมเหสีแล้วก็ถือพระองค์เป็นประดุจทาสทาสี ย่อมจงรักภักดีต่อพระสวามี ขอตามเสด็จไปปรนนิบัติประหนึ่งทาสติดตามรับใช้ มิยอมให้พระสวามีไปตกระกำลำบาก ทุกข์ยากพระวรกายแต่เพียงลำพัง ส่วนพระโอรสพระธิดาเป็นประดุจแก้วตาดวงใจจะทอดทิ้งเสียกระไรได้ พระเจ้ากรุงสญชัยต้องทรงเลิกทัดทานในที่สุด ครั้นเวลาเช้ารุ่งขึ้นก่อนที่จะเสด็จออกจากพระนคร พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาพระบิดา และขอบริจาคทานให้พิธีสัตตสตกมหาทาน คือ ช้าง ม้า โคนม รถม้า ทาสและทาสี อย่างละ ๗๐๐ บริจาคให้คนทั่วไป สัตตสตกมหาทานนั้น คือ ช้าง ๗๐๐ เชือก ม้า ๗๐๐ ตัว โคนม ๗๐๐ ตัว รถม้า ๗๐๐ คัน นารี ๗๐๐ นาง ทาส ๗๐๐ คน ทาสี ๗๐๐ คน ผ้าอาภรณ์ ๗๐๐ ชิ้น แล้วเสด็จออกจากนครพระนางมัทรีพาพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จออกป่าด้วย มิทรงยอมอยู่ในวังแม้พระเวสสันดรจะยับยั้งห้ามปราม มิให้มาตกระกำลำบากด้วยกันในป่า ระหว่างทางที่เสด็จขึ้นราชรถทองไปนั้น มีพราหมณ์วิ่งมาทูลขอม้าบ้าง ขอราชรถบ้าง พระเวสสันดรก็ยกให้ทั้งสิ้น ในที่สุดจึงต้องทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดาเสด็จเข้าป่าไป (แหล่งที่มา:http://www.storypoly.th.gs/web-s/torypoly/07.)





บทที่ 3

สรุป วิเคราะห์ วรรณกรรม : มหาเวสสันดร กัณฑ์ทานกัณฑ์

ในกัณทานกัณฑ์นี้ แสดงให้เห็นถึงปรัชญาชีวิต จารีตประเพณี ดังนี้
1. ความรักความซื่อสัตย์ของนางมัทรีที่มีต่อพระเวสสันดร
จากข้อความในทานกัณฑ์ดังกล่าวมานี้ ทำให้เราได้ทราบประเด็นที่เกี่ยวกับความเด็ดเดี่ยว รักเดียวใจเดียวของพระนางมัทรีที่ยืนยันว่าจะขอเสด็จไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระเวสสันดร ถึงแม้จะลำบากเพียงไหนก็จะไม่กลัวพยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น และเป็นการสอดแทรกทัศนะแห่งปรัชญาชีวิตในสังคมอีสานที่เกี่ยวกับค่านิยมของกุลสตรีที่พึงปฏิบัติต่อสามี เช่น ต้องยอมตกระกำลำบากพร้อมกับสามี โดยเฉพาะเมื่อสามีต้องยากลำบากหญิงต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามี ดังตัวอย่างที่ว่า
“แม่นซิทุกข์ท่อฟ้าสีหน้าก็ฮุ่งเฮืองพระเอย อันว่าสามีโกแก้วองค์เดียวเดินป่า หาเพื่อนพร้อมเทียมช้างก็บ่มี ลูกบ่ละแจ่มเจ้าเจียระจากองค์เดียว ลูกขอไปตามผัวแอ่วนำแนมเจ้า แสนทุกข์ฮ้อนนอนดินดอมปลวกก็ตามถ่อน แม่นซิทุกข์ท่อฟ้าพระองค์ข้าซิคอยเพียรพระเอย แนมท่อได้พางพื้นท่าวเทศองค์ศีล เป็นตายสังก็ส่างกรรมเมื่อหน้า”
2. ความกตัญญูกตเวทีของพระเวสสันดรที่มีต่อพระบิดา
เมื่อพระเวสสันดรถูกชาวเมืองสีพีขับไล่ออกจากแว่นแคว้นตามพระบรมราชโองการ ของพระเจ้าสญชัย พระราชบิดา พระองค์ก็ยินดีปฏิบัติตามแต่โดยดีโดยไม่ทรงทำให้พระราชบิดาเดือดร้อน ลำบากพระทัยใด ๆ เลย ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ แม้จะทุกข์ก็ไม่หวั่น เป็นแบบอย่างของบุคคลผู้ไม่ยึดติดอำนาจวาสนา รู้ซึ้งถึงโลกธรรมที่ว่า "ยามมียศ เขาก็ยก ยามต่ำตกเขาก็หยาม" หาได้หวั่นไหวหรือล้มเลิกบำเพ็ญบารมีไม่ ดังตัวอย่างที่ว่า
“เมื่อนั้นขอให้สองกษัตริย์ไท้คุณคามครองราชย์ อย่าได้มีพยาธิ์ฮ้อนยืนหมื่นหมื่นปีแด่ท่อน ลูกนี้คนขวางฮ้ายวายเมืองมัวมอด ฝูงหมู่พวกไพร่น้อยกระหายฮ้อนทั่วแดนแท่แหล่ว ประชาชนแท้หลอนเลิงเลี้ยงยาก ลูกนี้อยู่บ่ได้ เมืองบ้านซิล่มหลวง”
3. การปกครองเมืองของพระเจ้ากรุงสญชัย - พระนางผุสดี
พระเจ้ากรุงสัญชัย-พระนางผุสดี เป็นแบบอย่างของนักปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ รู้จักผ่อนผันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ไม่เว้นแก่พวกพ้อง แม้จะเป็นพระโอรสก็ตาม
4. ความรักของแม่ที่เป็นห่วงลูก คือ พระนางผุสดีที่เป็นห่วงพระเวสสันดร แม้จะทูลขอต่อพระเจ้ากรุง
สญชัยแต่ก็ไม่เป็นผล ได้แต่คร่ำครวญร้องไห้ ดังตัวอย่างที่ว่า
“เมื่อนั้นพระแม่เจ้ากิ้งเกือบตายสลบ ทนทรวงขนังปวงไปเป็นบ้า”
5. แสดงให้เห็นถึงความผูกพันภายในครอบครัว ที่พระเจ้ากรุงสญชัยขอให้พระนางมัทรีอยู่ในวังต่อเนื่องจากในป่ามีภัยอันตรายหลายด้าน ทั้งสัตว์ป่าต่าง ๆ อย่าได้ไปลำบากเลยให้อยู่เลี้ยงลูกอยู่ในวังเพื่อจะได้สืบเชื้อ
พระวงศ์ และความเป็นห่วงหลานทั้งสองซึ่งยังเล็กและบรรยายถึงเวลาเป็นไข้ ซึ่งเวลาเดินทางในป่าแดดร้อน กลางคืนก็มีน้ำค้างตก อันตรายต่างในป่าปู่ขอให้หลานทั้งสองอยู่ในเมือง ดังตัวอย่างที่ว่า
“เมื่อนั้นสญไชยเจ้าพระยาหลวงตนปู่ ต้านต่อลูกสะไภ้กอยกั้นเล่าโลม ให้ลูกอยู่สืบสร้างเสวยราชในปรางค์พ่อท่อน อย่าได้ไปตามผัวป่าไพรพงช้าง อันแต่ในดงกว้างไพรสนแสนยาก มีทั้งผีปาเป้าโพงฮ้ายสม่อยดงพ่อแหล่ว มีทั้งเสือสางฮ้ายทอระพีควายเถื่อน ฝูงหมู่งูงอดเงี่ยวเขียวฮ้ายเห่าจอง มีทั้งทำทานพร้อมจงอางสางฮ้าเต็มป่าไม้ เหวห้วยฮ่อมผาลูกเอย คันหากเห็นคนแล้วทะยานโยงเต้นตอด พิษพุ่งฮ้ายกลัวย่านอย่าไปพ่อท่อน มีทั้งเหลือมเหลาแหล่สีแดงเดียระดาษ ฝูงหมู่เสือโคร่งเขียวโฮมฮ้ายหมู่หมี มีทั้งสิงโตเต้นในดอยดงด่าน ไผบ่นับอ่านถ่วนคณาเนื้อมั่งเมย มหิงสาฮ้ายดังดีดมกลิ่นเต้นไต้ต้องตันไว้ว่างดอย สังหาญฆ่าคนจรพรานป่า ลูกอย่างต้านคำเว้าว่าซิไปพ่อท่อน ลูกจงเนาในห้องปรางค์ทองผาสารท เลี้ยงลูกน้อยแทนเชื้อสืบพระวงศ์”
“อนิจจังด้วยดอมหลานสองอ่อนกูเด อายุยังหนุ่มน้อยนอนผ้าอู่เปล คิดถึงเวลาไข้เดินไพรเขียวแดด ตากน้ำค้างกลางด้าวด่านดง อันตรายล้นไพรสนหิมะเวส ปู่พากย์ข้อขอไว้อย่าซิไปพ่อท่อน ขอให้สองหลานแก้วเนาว์ในนครราช ปู่มอบให้กรุงกว้างแก่หลาน”
จากการศึกษาวรรณกรรมเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ นี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา ดังนี้ คือ
1. ภูมิปัญญาแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งจากการศึกษาแสดงให้เข้าใจถึงลักษณะของสังคม ค่านิยม ปรัชญาชีวิต และวิถีแห่งชีวิต ตลอดจนระบบของสังคมของกลุ่มชน
ภูมิปัญญาแห่งความเป็นมนุษย์ จึงเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคม มนุษย์ หมายความรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้กระทำ ความรู้สึกนึกคิด จิตนาการ สร้างสรรค์ เพื่อความดี งาม ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า
2. ภูมิปัญญาด้านการจัดระเบียบสังคมมนุษย์ หรือ การควบคุมสังคมให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขของประชาคมนั้น ๆ อาทิเช่น การที่พระเจ้ากรุงสญชัยเลือกที่จะขับไล่พระเวสสันดร ซึ่งเป็นลูกที่รักดั่งดวงใจ ออกจากเมืองตามความต้องการของประชาชน เป็นต้น
3. ภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม ภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการสื่อความหมายร่วมกัน อย่างมีระเบียบวิธีการใช้ มีโครงสร้างทางไวยากรณ์ และวรรณกรรมที่ทำให้การสื่อภาษามีพลังในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เช่น การอุปมาอุปมัย “เมื่อนั้นพระแม่เจ้ากิ้งเกือบตายสลบ ทนทรวงขมังปวงไปเป็นบ้า” ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยความทุกข์ของนางผุสดีเมื่อทราบว่าจะเนรเทศพระเวสสัดรออกจากเมือง และแสดงอาการของพระนางผุสดีว่าเกือบตายสลบและทนทุกข์ใจจนจะเป็นบ้า เป็นต้น

ข้อคิด
1. ความรักของแม่ ความห่วงของเมีย
2.โทษทัณฑ์ของการเป็นหม้าย คือ ถูกประนามหยามหมิ่นอาจถึงจบชีวิตด้วยการก่อกองไฟให้
รุ่งโรจน์แล้วโดดฆ่าตัวตาย
3. เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม พึงยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว 4. ยามบุญมีเขาก็ยก ยามตกต่ำเขาก็หยาม ชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง คุณค่าของมหาชาติมหาชาติเวสสันดรชาดกเป็นคัมภีร์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง สอนให้รู้จักโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มิเห็นแก่ตัว ซึ่งจะทำให้สังคมสงบสุข โดยมีอานิสงค์ ๕ ประการ ดังนี้
1. เป็นวรรณกรรมชั้นสูงที่รัตนกวีของชาติได้แต่งขึ้น
2. เป็นแม่แบบของการปกครอง แบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3. เป็นคัมภีร์ที่สอนให้รู้ว่า การแก้ไขปัญหา แบบประชาธิปไตย (ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่) และ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรง นอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังเป็นการสร้าง ปัญหาให้เกิดมากยิ่งขึ้นไปอีก
4. สอนการผ่อนหนักให้เป็นเบา รู้จักประนีประนอม ผ่อนปรน ในยามบ้านเมืองเข้าที่คับขัน เช่น เหตุการณ์รุนแรงสำคัญ ๆ ในบ้านเมือง ตัวอย่างเช่น กรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกปฏิบัติเยี่ยงเดียวกับพระเจ้าสัญชัย โดยให้ผู้บริหารประเทศ ออกจาก บ้านเมืองไปก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์คืนสู่ปกติ
5. สอนการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันนุ่มนวล ที่มุ่งผูกมิตร ทำลายความเป็นศัตรูอานิสงส์ ผู้ใดบูชากัณฑ์ทานกัณฑ์ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์สองเท้าสี่เท้า ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขอยู่ในปราสาทสร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ